2010-11-05

การจัดการการเปลี่ยนแปลงองค์การ (6) -Dr.Danai T.

2) โมเดลการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research Model) สำหรับโมเดลนี้เป็นโมเดลการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบดั้งเดิม ซึ่งนำกระบวนการวิจัยมาใช้วางแผนล่วงหน้าเพื่อการเปลี่ยนแปลง โดยที่จะมีขั้นตอนทั้งหมด 8 ขั้นตอนคือ
1. การกำหนดปัญหา (Problem Identification) ในขั้นตอนนี้เริ่มเกิดขึ้นเมื่อผู้บริหารที่เป็นหลักขององค์การซึ่งมีพร้อมทั้งอำนาจและการรับรู้ว่า องค์การจะเกิดมีปัญหามากกว่า 1หรือ 2 ปัญหาที่จำเป็นต้องอาศัยนักปฏิบัติเข้ามาช่วยแก้ไข

2. การปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมศาสตร์ (Consultation with a Behavioral Science Expert) ในช่วงแรกเป็นการปรึกษากันระหว่างผู้บริหารและนักปฏิบัติด้านพัฒนาองค์การเพื่อพูดคุยถึงทฤษฎีการพัฒนา กรอบความคิดด้านสมมติฐานและคุณค่า การแลกเปลี่ยนนี้ต้องทำอย่างเปิดเผยและบรรยากาศของความร่วมมือ

3. การรวบรวมข้อมูลและการวินิจฉัยเบื้องต้น (Data Gathering and Preliminary Diagnosis) ผู้ที่รับผิดชอบในฐานะนักปฏิบัติด้านพัฒนาองค์การจะเข้ามาเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการ 4 ขั้นคือ การสัมภาษณ์ การสังเกตกระบวนงาน แบบสอบถามและข้อมูลผลงานขององค์การ และเริ่มวินิจฉัยองค์การจากสารสนเทศทั้งหมด ซึ่งทำให้เห็นปัญหาและสิ่งที่องค์การต้องการในอนาคต

4. การให้ข้อมูลย้อนกลับไปยังผู้ให้ข้อมูลหรือกลุ่ม (Feedback to a Key Client or Group) เนื่องจากการวิจัยเชิงปฏิบัติการ เป็นกิจกรรมความร่วมมือ ดังนั้นการวินิจฉัยข้อมูลจึงมีความจำเป็นที่จะให้ข้อมูลย้อนกลับไปยังผู้ให้ข้อมูล โดยปกติมักทำในกลุ่มหรือการประชุมทีมงาน
ซึ่งข้อมูลย้อนกลับที่ส่งไปจะทำให้นักปฏิบัติด้านพัฒนาองค์การได้รู้จุดแข็งและจุดอ่อนขององค์การ

5. การวินิจฉัยปัญหาร่วมกัน (Joint Diagnosis of the Problem) Schein ชี้ว่า ความล้มเหลวของที่ปรึกษาส่วนใหญ่คือ รายงานที่องค์การไม่ยอมรับ (อ้างจาก Commings และ Worley, 2005 หน้า 25) ดังนั้น การมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้รวบรวมข้อมูล การให้ข้อมูลย้อนกลับและการวินิจฉัยจะทำให้ค้นพบปัญหาที่แท้จริงและวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง

6. การวางแผนปฏิบัติการร่วมกัน (Joint Action Planning) นักปฏิบัติด้านพัฒนาองค์การและผู้บริหารที่รับผิดชอบร่วมกันวางแผนดำเนินการในอนาคต ซึ่งขั้นตอนนี้จะเหมือนกันกับการเปลี่ยนใหม่ของเลวิน โดยจะต้องกำหนดแผนการปฏิบัติการที่คำนึงถึงวัฒนธรรม
เทคโนโลยี และสภาพแวดล้อมขององค์การ รวมถึงการวินิจฉัยปัญหา ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะมีเกิดขึ้น

7. การปฏิบัติการ (Action) ขั้นตอนนี้คือ การลงมือปฏิบัติในองค์การ ซึ่งจะรวมถึงการติดตั้งวิธีการใหม่ กระบวนการ การปรับโครงสร้างองค์การและการออกแบบงานใหม่ การเสริมแรงในพฤติกรรมใหม่ ทั้งหมดนี้อาจไม่สามารถใช้ได้ทันที แต่ต้องรอระยะการเปลี่ยนผ่านจากปัจจุบันไปยังสภาวะที่ต้องการในอนาคต

8. การรวบรวมข้อมูลภายหลังปฏิบัติการ (Data Gathering after Action) เนื่องจากการวิจัยเชิงปฏิบัติการเป็นกระบวนการคล้ายวงจร จึงต้องมีการรวบรวมข้อมูลภายหลังที่ดำเนินการไปแล้วเพื่อทำการวัดและกำหนดผลกระทบของการปฏิบัติการ และส่งผลเป็นข้อมูลย้อนกลับสู่องค์การ ซึ่งอาจะเป็นต้องมีการวินิจฉัยใหม่และการปฏิบัติการใหม่

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาอิสระ
วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า
โทร 0818338505  email: drdanait@gmail.com
Line ID: thailand081

No comments: