2010-06-01

นวัตกรรมการจัดการ-Management Innovation โดย ดร.ดนัย เทียนพุฒ

เรื่องราวของ “นวัตกรรม” (Innovation) หรือธุรกิจแห่งนวัตกรรม (Innovation Enterprises) ดูจะได้รับความสนใจมากขึ้นทั้งในด้านการศึกษาค้นคว้าและการพูดถึงในแวดวงสนทนา

ผู้เขียนเองก็ได้เปิดประเด็นเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้วทั้งในคอลัมน์ “คิดไทย สไตล์โมเดิร์น” หรือในเวบไซท์ (http://www.dntnet.com) เข้าไปอ่านได้ที่ “DNT Blog” ในอีกหลายๆ คอลัมน์ของผู้เขียน จนกระทั่งดูเหมือนว่าบรรดาหนังสือพิมพ์ด้านธุรกิจจำต้องจับกระแสเรื่องนี้ มิฉะนั้นจะตกขบวนนวัตกรรมโลกไปเลย

สิ่งที่ควรทำความเข้าใจเป็นอย่างยิ่งในเรื่องของ การสร้างความคิด (Idea Generation) ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นความคิดสร้างสรรค์เพราะการสร้างความคิดมีได้หลายวิธีหลายรูปแบบ เช่น คิดเป็นระบบ คิดเชิงกลยุทธ และบางคนกลับหลงประเด็นไปคิดว่า ความคิดสร้างสรรค์คือ นวัตกรรม ซึ่งเป็นเพียงทางสายหนึ่งเท่านั้นเพราะ

“ทุกความคิดที่เกิดขึ้นทั้งคิดเชิงเหตุผล คิดวิเคราะห์ คิดเป็นระบบ คิดเชิงกลยุทธและคิดสร้างสรรค์ ถือว่าเป็นการสร้างความคิดใหม่ แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่เป็น “นวัตกรรม” ทั้งนี้เพราะว่า นวัตกรรม หมายถึง สร้างความคิดใหม่ที่มีผลต่อธุรกิจในเชิงพาณิชย์”

ขณะเดียวกันหลายท่านที่มุ่งมาทางอุตสาหกรรมหรือสถาบันการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์มักจะเข้าใจในอีกสายทางหนึ่งคือ นวัตกรรมได้มาจาก การวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งตรงนี้ต้องการสิ่งที่เรียกว่า “จินตวิศวกรรม” (Imagineering) ในเมืองไทยเราผู้เขียนไม่แน่ใจว่าเรามีผู้ทำอาชีพด้านนี้หรือไม่

แต่ในโลกมีแน่นอน ถ้าท่านผู้บริหารหรือผู้อ่านได้มีโอกาสไปทั้ง “ดิสนีย์แลนด์” (Disneyland) และฮอลลีวู๊ดที่ Universal Studio จะได้เห็นสิ่งประดิษฐกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างทั้งเครื่องเล่นและสวนสนุก รวมถึงสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ในภาพยนตร์ ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดมาจากผลงานของเหล่าบรรดา “จินตวิศวกรรม” (Imagineering) ครับ ซึ่งอาชีพจินตวิศวกรรมนี้อาศัยสิ่งที่เรียกว่า จินตนวัตกรรรม (Imaginovation)

สำหรับผู้ที่สนใจหรือประเทศ “ที่จะแข่งขันด้วยวิทยาศาสตร์” ในแต่ละปีจะมีฟอรั่มระดับโลกในเรื่อง “ที่สุดของกลยุทธนวัตกรรม” โดย Scientific American และ MIT Sloan Management Review
ผู้เขียนลองหยิบแนวคิดของปีก่อนโน้น (พย.49) มาฉายให้เห็นการคิดในเรื่องนี้ดังรูป



ถ้าจะพูดถึงธุรกิจแห่งนวัตกรรมหรือนวัตกรรมในธุรกิจ ซึ่งได้มีการศึกษากันไว้มากพอสมควร เช่น กรณีของกลุ่มประเทศ EU (1995) ได้อธิบายถึง นวัตกรรมไว้ว่า
*การปรับใหม่และขยายขอบเขตของผลิตภัณฑ์และบริการและความเกี่ยวข้องของตลาด
*การจัดทำหรือให้มีวิธีการใหม่ด้านการผลิต ซัพพลายและการจัดจำหน่าย
*การแนะนำการเปลี่ยนแปลงในการจัดการ การทำงานขององค์กรและเงื่อนไขของการทำงานกับทักษะของคนทำงาน
โดยปกติในบริษัทหรือองค์กรจะมีมิติของนวัตกรรมที่สัมพันธ์ใน 3 แกนด้วยกัน คือ 1) แกนผลิตภัณฑ์ 2) แกนกระบวนการ 3) แกนการจัดการ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะให้ความสนใจในมิตินวัตกรรม ด้านผลิตภัณฑ์กับด้านกระบวนการ

นวัตกรรมการจัดการ (Management Innovation)

มิตินวัตกรรมการจัดการเป็นสิ่งที่ดูจะมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า 2 มิติ
ที่กล่าวมาข้างต้นและอาจจะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ (Key Success Factors) ของธุรกิจแห่งนวัตกรรม แต่ธุรกิจให้ความสนใจน้อย

นวัตกรรมการจัดการ อาจจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ได้ว่าคือ การนำการปฏิบัติ กระบวนการและโครงสร้างใหม่ของการจัดการไปสู่การดำเนินการที่เป็นตัวแทนของความแตกต่างไปจากการที่ปฏิบัติการอยู่เป็นประจำ
ลักษณะเช่นนี้เป็นการปรับเปลี่ยนแบบพลิกฝ่ามือในหลายๆ หน้าที่และกิจกรรมการทำงานในองค์กร

ช่วงเวลามากกว่า 130 ปี มีแนวคิดของนวัตกรรมการจัดการประมาณมากกว่า 100 เรื่อง ซึ่ง Julian Birkinshaw และ Michael Mol (2006) ได้ทำการวิจัยและสรุปขึ้นมาจนกระทั่งสกัดเหลือเพียงที่เป็นนวัตกรรมการจัดการ ซึ่งถูกใช้อย่างครอบคลุมในทุกๆ ประเทศอุตสาหกรรมและรูปแบบของนวัตกรรมมีอยู่ 11 นวัตกรรมการจัดการที่น่าสนใจมาก

ซึ่งโดยสรุปแล้ว นวัตกรรมการจัดการหรือ Management Innovation แม้จะมีอยู่มากแต่ที่แพร่หลายและเรารู้จักหรือนำมาใช้ในเมืองไทย ยังมีไม่มากนัก 
ที่สงสัยหรือใครอยากรู้ว่าบ้านเราจะมี นวัตกรรมการจัดการมากน้อยเพียงไรหรือได้แต่แค่เห็นบทสัมภาษณ์ของเหล่าบรรดาผู้นำธุรกิจ โดยไม่มีการแร่หลายหรือพัฒนาด้วย R&D ให้ต่อยอดความรู้ได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น



No comments: